Rosenberg, Julius (1918-1953)

นายจูเลียส โรเซนเบิร์ก (พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๙๖)

 จูเลียส โรเซนเบิร์ก เป็นจารชนชาวอเมริกันที่เลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ เขาให้ข้อมูลลับแก่สหภาพโซเวียตเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูในโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ซึ่งเป็นโครงการลับของสหรัฐอเมริกาว่าด้วยการค้นคว้าวิจัยระเบิดปรมาณูในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* การจารกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนให้สหภาพโซเวียตสร้างระเบิดปรมาณูได้สำเร็จเร็วกว่าที่สหรัฐอเมริกาคาดการณ์ไว้และทำให้สหภาพโซเวียตสามารถคานอำนาจสหรัฐอเมริกาได้ ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ โรเซนเบิร์กถูกจับกุมด้วยข้อหาจารกรรมข้อมูลลับและก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ เขาเป็นพลเรือนคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาสมัยสงครามเย็น (Cold War)* ที่ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหาดังกล่าว

 โรเซนเบิร์กเกิดที่เมืองนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ในครอบครัวชาวยิวอพยพจากโปแลนด์ บิดาทำงานในโรงงานเย็บผ้า ส่วนมารดาเป็นแม่บ้านดูแลลูก ๕ คน เมื่อเขาอายุได้ ๑๑ ปี ครอบครัวอพยพมาอยู่ฝั่งตะวันออกตอนล่างของเมืองนิวยอร์ก เขาเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนทัลมุดโทราห์ (Talmud Torah) และชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมซีวอร์ดพาร์ก (Seward Park High School) โดยสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ขณะอายุ ๑๖ ปี บิดาคาดหวังให้เขาเป็นแรบไบสอนศาสนา แต่โรเซนเบิร์กกลับสมัครเข้าศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่ชิตีคอลเลจ ออฟนิวยอร์ก (City College of New York) วิทยาลัยแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีในทศวรรษ ๑๙๓๐ ว่าอาจารย์และนักศึกษามีความคิดเห็นทางการเมืองรุนแรงที่สุดในประเทศและเป็นวิทยาลัยที่มีความตื่นตัวทางด้านการเมืองสูง ชมรมในวิทยาลัยมีทั้งที่เป็นชมรมวัฒนธรรมแบบลัทธิมากซ์ (Marxist Cultural Society) และชมรมที่เป็นสาขาของสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ (Young Communist League) โรเซนเบิร์กสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชมรมสไตน์เมตซ์ (Steinmetz) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์และได้เป็นบรรณาธิการจดหมายข่าวของชมรมชื่อ The Integrator ด้วย เขามีโอกาสรู้จักและเป็นเพื่อนกับมอร์ตัน โซเบลล์ (Morton Sobell) วิลเลียม เพิร์ล (William Perl) และโจเอล บาร์ (Joel Barr) ซึ่งในเวลาต่อมาเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายงานจารชนรัสเซียตามโรเซนเบิร์ก โรเซนเบิร์กและเพื่อน ๆ ที่ฝักใฝ่ในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และลัทธิสตาลิน (Stalinism)* มักจะจับกลุ่มกันอยู่บนระเบียงชั้น ๒ ของห้องอาหารของวิทยาลัยซึ่งพวกเขาเรียกกันว่าเครมลิน (Kremlin) นอกจากนี้ โรเซนเบิร์กยังเป็นสมาชิกของสหพันธ์อาชีพของสถาปนิก วิศวกร นักเคมี และช่างเทคนิค (Federation of Architects, Engineers, Chemists, and Technicians-FAECT) ซึ่งเป็นสหพันธ์อาชีพที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองรุนแรงด้วย การที่โรเซนเบิร์กทุ่มเทให้กับกิจกรรมทางการเมืองอย่างมาก มีผลให้การเรียนของเขาแย่ลงจนเรียนไม่ทันเพื่อนร่วมรุ่น แต่ความเป็นคนหัวดีและมุมานะก็ทำให้เขาสามารถสำเร็จการศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าได้ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งช้ากว่าเพื่อนร่วมรุ่นไป ๑ ภาคการศึกษา

 ในปีเดียวกันที่สำเร็จการศึกษา โรเซนเบิร์กแต่งงานกับเอเทล กรีนแกลสส์ (Ethel Greenglass) เพื่อนนักศึกษาร่วมสถาบันและทำงานรับจ้างอิสระ ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๔๐ เขาได้งานอาชีพที่หน่วยงานรับ-ส่งสัญญาณของกองทัพบกสหรัฐ (U.S. Army Signal Corps) และอีก ๒ ปีต่อมาก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ตรวจสอบของหน่วยงานนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน โรเซนเบิร์กและภรรยาเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหรัฐอเมริกา (Communist Party of the U.S.-CPUSA) ภูมิหลังทางการเมืองยังเปิดทางให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสาขาที่ ๑๖ บีของแผนกอุตสาหกรรมของพรรค (Branch 16B of the Party’s Industrial Division) ในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๑ เขาได้รู้จักกับ เซมิออน เซเมนอฟ (Semyon Semenov) หัวหน้าจารชนโซเวียตในสหรัฐอเมริกาจากการแนะนำของเบอร์นาร์ด ชุสเตอร์ (Bernard Schuster) สมาชิกอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหรัฐอเมริกา คนทั้งสองเริ่มติดต่อคบหากันอย่างใกล้ชิดและเมื่อเซเมนอฟกลับไปประจำการที่กรุงมอสโก ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ เขามอบหมายให้อะเล็กซานเดอร์ เฟคลีซอฟ (Alexandre Feklisov) ติดต่อกับโรเซนเบิร์กแทน ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ โรเซนเบิร์กและภรรยายุติบทบาทในพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อทำงานเป็นสายลับให้กับสหภาพโซเวียตเต็มตัว เขาชักชวนเพื่อนหลาย ๆ คนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันให้มาร่วมงานด้วยจนในที่สุดสามารถจัดตั้งข่ายงานจารชนโซเวียตขึ้นได้ ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๕ โรเซนเบิร์กถูกปลดออกจากงานด้วยข้ออ้างที่ว่าเขาเคยเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อน เขาได้งานใหม่ที่บริษัทวิทยุเอเมอร์สัน (Emerson Radio Corporation) แต่ทำได้ไม่นานก็ลาออก ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ เขาร่วมกันกับเพื่อน ๆ ก่อตั้งบริษัทวิศวกรรมจีแอนด์อาร์ (G & R Engineering Company) ขึ้น แต่กิจการก็ไม่ประสบความสำเร็จและล้มเลิก ไปใน ค.ศ. ๑๙๔๗

 หลังวิกฤตการณ์การปิดกั้นเบอร์ลิน (Berlin Blockade ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๙)* ซึ่งทำให้เยอรมนีถูกแบ่งออกเป็น ๒ ประเทศ สหภาพโซเวียตซึ่งตระหนักถึงความเข้มแข็งของสหรัฐอเมริกาด้านอาวุธปรมาณูได้เร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์จนสามารถทดลองระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ชื่อ โจ ๑ (Joe 1) ได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ ซึ่งเร็วกว่าที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาคาดการณ์เอาไว้มากสหรัฐอเมริกาจึงสงสัยว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่ทั้งระดับสูงและระดับล่างในโครงการแมนฮัตตันได้ส่งข้อมูลลับของโครงการนี้ให้แก่สหภาพโซเวียต เพราะแม้สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตจะเป็นพันธมิตรกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้แจ้งให้สหภาพโซเวียตทราบเกี่ยวกับโครงการแมนฮัตตันเพราะไม่ไว้วางใจในเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำโซเวียต

 ผลการสอบสวนการรั่วไหลของข้อมูลลับโครงการแมนฮัตตัน ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๐ พบว่าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เคลาส์ ฟุคส์ (Klaus Fuchs) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษเชื้อสายเยอรมันและเป็นตัวแทนรัฐบาลอังกฤษในโครงการแมนฮัตตันได้ส่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูให้แก่สหภาพโซเวียต หลักฐานที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้ในการจับตัวฟุคส์ คือโทรเลขที่ส่งจากสถานทูตรัสเซียในสหรัฐอเมริกาไปยังหน่วยสืบราชการลับในสหภาพโซเวียตภายใต้ชื่อ “เวโนนาเคเบิลส์” (Venona Cables) เมื่อมีการถอดรหัสและแปลข้อความในโทรเลขซึ่งกล่าวถึงความก้าวหน้าของโครงการแมนฮัตตัน ฟุคส์จึงถูกจับกุมตัวในเดือนกุมภาพันธ์และเขายอมสารภาพว่าผู้ที่รับข้อมูลจากเขาไปเป็นชายชื่อ “เรย์มอนด์” (Raymond)

 การจับกุมฟุคส์และความหวาดกลัวของชาวอเมริกันต่อการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ เปิดโอกาสให้โจเซฟ แมกคาร์ที (Joseph McCarthy) วุฒิสมาชิกสังกัดพรรคริพับลิกัน (Republican Party) จากรัฐวิสคอนซินซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมจัด ปลุกกระแสต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่คนอเมริกันให้รุนแรงมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสทางการเมืองและกำจัดศัตรูทางการเมือง ลัทธิแมกคาร์ที (McCarthyism) จึงมีบทบาทและอิทธิพลอย่างมากต่อสังคมอเมริกันขณะนั้นและกระแสการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แมกคาร์ทีประกาศเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๐ ว่ามีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศกว่า ๒๐๐ คน เป็นคอมมิวนิสต์ และประเทศกำลังเผชิญกับศัตรูร้ายที่น่าสะพรึงกลัว ชาวอเมริกันเห็นว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวมาก ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์แทบจะไม่สามารถปกป้องตัวเองได้เลย

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ แฮร์รี โกลด์ (Harry Gold) นักเคมีซึ่งต้องสงสัยว่าเป็น “เรย์มอนด์” ถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม โกสด์ยอมสารภาพและระบุว่าผู้ที่ป้อนข้อมูลลับให้แก่เขาคือ เพื่อนของโรเซนเบิร์กชื่อ เดวิด กรีนแกลสส์ (David Greenglass) อดีตช่างเทคนิคที่ลอสอะลาโมส (Los Alamos) ซึ่งเป็นห้องทดลองค้นคว้าวิจัยของโครงการแมนฮตตัน เขาจ่ายเงินจำนวน ๕๐๐ ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ กรีนแกลสส์ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๕ เพื่อแลกกับข้อมูลเรื่องการทำเลนส์ยุบรวมนิวเคลียส (implosion lens) กรีนแกลสส์จึงถูกจับกุมในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๐ เขายอมสารภาพและให้การซัดทอดว่าผู้ที่ชักชวนเขาจารกรรมข้อมูลลับของโครงการแมนฮัตตันให้แก่สหภาพโซเวียต ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ คือ โรเซนเบิร์กซึ่งเป็นพี่เขย ตลอดช่วง ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาได้บันทึกข้อมูลและวาดรูปแบบหล่อเลนส์จุดระเบิดรุนแรง (high-explosive lens molds) ซึ่งกำลังสร้างที่ห้องทดลองและได้ส่งให้โรเซนเบิร์กซึ่งส่งต่อให้กับอะนาโตลี เอ. ยาคอฟลอฟ (Anatoly A. Yakovlev) รองกงสุลโซเวียตในกรุงนิวยอร์ก นอกจากการซัดทอดของกรีนแกลสส์แล้ว รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังมีหลักฐานว่า ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ โรเซนเบิร์กได้ส่งข้อมูลการทำชนวนชนิดไม่สัมผัสระเบิด (proximity fuse) ให้แก่สหภาพโซเวียต [ซึ่งใน ค.ศ. ๑๙๖๐ โซเวียตใช้ข้อมูลดังกล่าวในการยิงเครื่องบินสืบราชการลับยู ๒ (U2) ของสหรัฐอเมริกาที่ล่วงลํ้าเข้าไปในน่านฟ้าของโซเวียต]

 โรเซนเบิร์กถูกจับกุมที่บ้านพักเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ส่วนภรรยาถูกจับกุมเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ในขณะที่เดินทางไปขึ้นรถไฟใต้ดิน เธอไม่มีโอกาสแม้จะกลับไปจัดการเรื่องลูกชาย ๒ คน ที่ฝากเพื่อนบ้านดูแลอยู่ เพื่อนสนิทของโรเซนเบิร์กที่เคยเรียนด้วยกันที่วิทยาลัยเมืองนิวยอร์กต่างก็ถูกเรียกตัวมาสอบสวน โจเอล บาร์ หายตัวไปในกรุงปารีสในวันเดียวกับที่กรีนแกลสส์ถูกจับ ส่วนแอลเฟรด แซแรนต์ (Alfred Sarant) สามารถเล็ดลอดการติดตามของเจ้าหน้าที่และหนีไปยังเม็กซิโกได้ วิลเลียม เพิร์ลถูกเรียกตัวมาให้ปากคำต่อหน้าลูกขุน แต่เขาปฏิเสธว่าไม่รู้จักโรเซนเบิร์ก แต่เมื่อมีหลักฐานมัดแน่นหนาในภายหลังเขาจึงถูกลงโทษเพราะให้การเท็จ ส่วนแมกซ์ เอลิตเชอร์ (Max Elitcher) ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และให้การว่า ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ โรเซนเบิร์กได้พยายามชักชวนให้เขาทำงานเป็นสายลับให้สหภาพโซเวียต

 เพื่อนอีกคนของโรเซนเบิร์กที่ถูกจับกุมและส่งฟ้องศาลพร้อมกับเขาในข้อหาจารกรรมคือ มอร์ตัน โซเบลล์ ก่อนถูกจับกุมตัว เขากำลังพักผ่อนอยู่ที่กรุงเม็กซิโกซิตี ในเวลาต่อมาโซเบลล์เขียนเล่าไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง On Doing Time (ค.ศ. ๑๙๗๔) โดยกล่าวว่าเมื่อโรเซนเบิร์กถูกจับกุม เขาได้พยายามเดินทางหนีโปยุโรปโดยไม่มีพาสปอร์ต แต่สุดท้ายต้องยกเลิกแผนการและกลับมากรุงเม็กซิโกซิตี โซเบลล์กล่าวหาตำรวจลับเม็กซิกันว่าได้ลักพาตัวเขาและจับส่งให้กับเจ้าหน้าที่อเมริกัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็อ้างว่าเขาถูกส่งตัวกลับสหรัฐอเมริกาโดยรัฐบาลเม็กซิโก แต่รัฐบาลเม็กซิโกปฏิเสธใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ว่าไม่เคยส่งตัวโซเบลล์กลับสหรัฐอเมริกา

 การพิจารณาคดีระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกากับโรเซนเบิร์กและภรรยาและโซเบลล์เริ่มเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ และสิ้นสุดเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ปีเดียวกันจำเลยทั้ง ๓ คนลูกตั้งข้อหาคบคิดร่วมมือกันกระทำจารกรรมและก่ออาชญากรรมต่อประเทศ อัยการของฝ่ายโจทก์คือ เออร์วิง เซย์พอล (Irving Saypol) ส่วนทนายความของโรเซนเบิร์กและภรรยาคือ เอมานูเอล เฮิร์ช บล็อค (Emanuel Hirsch Bloch) และผู้พิพากษาคือ เออร์วิง คอฟแมน (Irving Kaufman) คดีของโรเซนเบิร์กได้รับความสนใจและการติดตามทำข่าวจากสื่อมวลชนและชาวอเมริกันและก่อให้เกิดการโต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอเมริกันมาก นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้การสอบสวนการกระทำของชาวอเมริกันที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศของวุฒิสมาชิกแมกคาร์ทีมีความสำคัญและได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้นอีกด้วย ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่าทั้ง ๓ คนกระทำผิดจริงแต่คนอีกกลุ่มหนึ่งก็คิดว่าทั้งหมดบริสุทธิ์ พยานคนสำคัญของฝ่ายโจทก์ในการกล่าวโทษโรเซนเบิร์กและภรรยาคือ เดวิด กรีนแกลสส์ นอกจากเขาจะยืนยันว่าโรเซนเบิร์กเป็นผู้ชักจูงให้เขากระทำการจารกรรมแล้ว กรีนแกลสส์ยังซัดทอดว่าในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาเห็นเอเทลพี่สาวของเขาซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ทัณฑ์บนนั่งพิมพ์เอกสารลับเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูอยู่ที่บ้าน เอกสารดังกล่าวถูกส่งต่อให้กับโกลด์ซึ่งส่งให้กับยาคอฟลอฟ รองกงสุลโซเวียตในกรุงนิวยอร์ก

 โรเซนเบิร์กและภรรยายืนยันว่าพวกเขาบริสุทธิ์ตลอดการพิจารณาคดี ผู้ช่วยอัยการวิลเลียม พี. รอเจอรส์ (William p. Rogers) กล่าวว่า โรเซนเบิร์กคิดว่าการตั้งข้อกล่าวหาภรรยาของเขาเป็นความพยายามของอัยการที่จะกดดันให้เขาเปิดเผยรายชื่อผู้ร่วมขบวนการเท่านั้นอย่างไรก็ตาม โรเซนเบิร์กและภรรยายืนยันขอใช้สิทธิตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา ๕ ที่จะไม่ตอบข้อซักถามเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาในพรรคคอมมิวนิสต์หรือเกี่ยวกับสมาชิกของพรรคแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม อีก ๕๐ ปีต่อมาในหนังสือ The Untold Story of Atomic Spy David Greenglass and How He Sent His Sister, Ethel Rosenberg, to the Electric Chair (ค.ศ. ๒๐๐๑) ของแซม รอเบิตส์ (Sam Roberts) ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ New York Times กรีนแกลสส์ยอมรับว่าคำให้การของเขาและรูท (Ruth) ภรรยาซึ่งกำลังตั้งครรภ์ขณะนั้นเกี่ยวกับเอเทล โรเซนเบิร์กใน ค.ศ. ๑๙๕๑ ไม่เป็นความจริง พวกเขาถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และต่อมาในการให้สัมภาษณ์กับวิทยุบีบีซี (BBC)* เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๑ กรีนแกลสส์กล่าวว่าเขาจำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้พิมพ์เอกสารฉบับนั้นและไม่แน่ใจว่ามีการพิมพ์เอกสารนั้นจริงหรือไม่เขายอมรับว่าจำเป็นต้องให้การเท็จเพื่อปกบ้องตัวเองและภรรยาเพราะได้มีการทำความตกลงกับอัยการล่วงหน้าแล้วที่จะไม่มีการตั้งข้อหากับภรรยาเขา กรีนแกลสส์ยอมรับว่าเขาไม่ยอมเสียสละลูกและภรรยาเพื่อแลกกับอิสรภาพของพี่สาวแต่เขาก็ไม่คิดว่าโทษของพี่สาวจะถึงขั้นประหารชีวิต

 ในวันที่ ๒๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ คณะลูกขุนตัดสินว่าโรเซนเบิร์กและภรรยามีความผิดตามข้อกล่าวหาและในวันที่ ๕ เมษายน ผู้พิพากษาคอฟแมนตัดสินให้ประหารชีวิตทั้ง ๒ คนภายใต้รัฐบัญญัติจารกรรม ค.ศ. ๑๙๑๗ (Espionage Act of 1917) ที่ห้ามไม่ให้ส่งหรือพยายามส่งข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศให้แก่รัฐบาลต่างชาติโรเซนเบิร์กและภรรยาเป็นพลเรือนอเมริกัน ๒ คนแรกและคู่เดียวที่ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาจารกรรมในช่วงสงครามเย็น ผู้พิพากษากล่าวว่าโรเซนเบิร์กต้องรับผิดชอบไม่ใช่เพียง แค่การจารกรรมข้อมูลลับของประเทศไปให้ศัตรูเท่านั้นแต่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของทหารและพลเรือนในสงครามเกาหลีด้วย เพราะข้อมูลลับเรื่องระเบิดปรมาณูที่สหภาพโซเวียตได้ไปนั้นทำให้สหภาพโซเวียตสามารถสร้างระเบิดปรมาณูได้สำเร็จเร็วกว่าที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ไว้และทำให้สหภาพโซเวียตเกิดความฮึกเหิมจนรุกรานเกาหลีใต้ ส่วนโซเบลล์นั้นศาลตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา ๓๐ ปี

 เมื่อหนังสือพิมพ์ The National Guardian ตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับการสอบสวนคดีโรเซนเบิร์กและภรรยา รวมถึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อดูแลให้การพิจารณาคดีของโรเซนเบิร์กเป็นไปอย่างยุติธรรม ชาวอเมริกันส่วนหนึ่งเริ่มคิดว่าทั้ง ๒ คนบริสุทธิ์หรือได้รับการลงโทษที่รุนแรงเกินไปหลายคนเชื่อว่าทั้งคู่เป็นเหยื่อทางการเมืองของลัทธิแมกคาร์ทีมีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนที่เชื่อว่าคดีนี้เป็นการต่อต้านชาวยิว แต่การต่อสู้ตามแนวทางนี้แพร่หลายในต่างประเทศเท่านั้นเพราะองค์กรที่สำคัญของชาวยิวหรือองค์กรที่ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในสหรัฐอเมริกาไม่ได้ให้การสนับสนุนพวกเขาเห็นว่าคดีนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด มีประชาชนทั่วไปจำนวนหนึ่งซึ่งรวมทั้งบุคคลสำคัญที่เป็นชาวอเมริกันและชาวต่างชาติต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาคดี พวกเขาเรียกร้องให้ยกเลิกการประหารชีวิตโรเซนเบิร์กและภรรยา อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักฟิสิกส์เคมีและสันตะปาปาไพอัสที่ ๑๒ (Pius XII) ก็ขอให้ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) เว้นโทษประหารชีวิตบุคคลทั้งสองแต่ไอเซนฮาวร์ปฏิเสธ

 โรเซนเบิร์กและภรรยายังคงยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาจนวันสุดท้ายของชีวิต พวกเขาถูกลงโทษให้นั่งเก้าอี้ไฟฟ้าในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๓ แต่เนื่องจากเรือนจำของรัฐบาลกลางไม่มีเก้าอี้ไฟฟ้า พวกเขาจึงถูกย้ายไปยังเรือนจำซิง-ซิง (Sing-Sing) ของรัฐนิวยอร์กแทนอย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ไฟก์ ฟาร์เมอร์ (Fyke Farmer) ทนายความจากรัฐเทนเนสซีซึ่งได้รับการติดต่อจากทนายความของโรเซนเบิร์กได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้ชะลอการประหารชีวิตทั้งคู่ ซึ่งผู้พิพากษาศาลฎีกาวิลเลียม โอ. ดักลาส (William O. Douglas) เห็นชอบตามคำร้องขอ มีการเรียกประชุมผู้พิพากษาของศาลฎีกาทั้งคณะในวันที่ ๑๘ มิถุนายนซึ่งเป็นวันประหารชีวิตเพื่อพิจารณาคำสั่งของผู้พิพากษาดักลาสที่ให้ชะลอการประหารชีวิตโรเซนเบิร์กและภรรยาที่ประชุมศาลฎีกามีมติให้ยกเลิกคำสั่งของดักลาส และสั่งให้ดำเนินการประหารชีวิตบุคคลทั้งสองในคํ่าวันที่ ๑๙ ซึ่งเป็นเวลาเริ่มต้นพิธีซับบาท (Sabbath) ของชาวยิว ทนายความของโรเซนเบิร์กจึงเห็นเป็นโอกาสยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาว่าเวลาที่ศาลกำหนดไว้เป็นการละเมิดประเพณีทางศาสนาของชาวยิว ศาลจึงแก้ไขคำสั่งด้วยการให้ดำเนินการประหารชีวิตโรเซนเบิร์กและภรรยาในเวลา ๒๐.๐๐ น. ก่อนที่พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าในวันศุกร์ที่ ๑๙ มิถุนายนเวลาที่กำหนดใหม่นี่เร็วกว่าเวลา ๒๓.๐๐ น. ที่เรือนจำซิง-ซิง เคยปฏิบัติมาโดยตลอดศพของโรเซนเบิร์กและภรรยาถูกนำไปฝังไร้ที่สุสานเวลส์วูด (Wellwood) ในเมืองไพน์ลอว์น (Pinelawn) รัฐนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๓

 ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็นและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตไม่นานนัก รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยเอกสารลับของฝ่ายโซเวียตกว่า ๓,๐๐๐ ชิ้น ที่ได้มีการถอดรหัสและแปลออกมาโดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีของโรเซนเบิร์ก เอกสารเหล่านี้ยืนยันว่าหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาถูกต้องมาโดยตลอดตั้งแต่มีการจับกุมตัวโรเซนเบิร์กว่าเขาเป็นสายลับให้แก่ สหภาพโซเวียต ต่อมา อะเล็กซานเดอร์ เฟคลีซอฟหัวหน้าจารชนโซเวียตที่โรเซนเบิร์กทำงานด้วยก็ยอมรับใน ค.ศ. ๑๙๙๗ ว่าเขาได้พบปะกับโรเซนเบิร์กระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๓-๑๙๔๖ แต่โรเซนเบิร์กไม่ได้ให้ข้อมูลใด ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างระเบิดปรมาณูของโซเวียต ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดของบอริส วี. โบรโควีช (Boris V. Brokhovich) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและทดลองระเบิดปรมาณูของโซเวียต เขาได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ New York Times ว่า โรเซนเบิร์กไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อโซเวียต ความสำเร็จในการสร้างระเบิดปรมาณูเป็นผลสืบเนื่องจากการค้นคว้าและทดลองของสหภาพโซเวียตเอง อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นหลายปี นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๖๔ ได้ให้ความเห็นที่ขัดแย้งกัน ดังปรากฏในหนังสือบันทึกความทรงจำของเขาว่าทั้งสตาลินและเวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเคยบอกเขาว่า โรเซนเบิร์กและภรรยาได้ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการสร้างระเบิดปรมาณูของสหภาพโซเวียตอย่างมาก

 ในปีที่โรเซนเบิร์กและภรรยาถูกประหารชีวิต รอเบิร์ต (Robert) และไมเคิล (Michael) ลูกชาย ๒ คนซึ่งอายุ ๖ ขวบ และ ๑๐ ขวบตามลำดับ ได้กลายเป็นเด็กกำพร้าและไม่มีญาติพี่น้องรับดูแล เอเบล มีโรพอล (Abel Meeropol) นักแต่งเพลงและแอนน์ (Ann) ภรรยาจึงรับอุปการะเด็กทั้ง ๒ คน และให้ใช้นามสกุลมีโรพอลด้วย ต่อมา ใน ค.ศ.๑๙๗๓ รอเบิร์ตและไมเคิลได้เปิดเผยตัวต่อสาธารณชนว่าพวกเขาเป็นลูกชายของโรเซนเบิร์กและกลับมาใช้นามสกุลเดิม ทั้ง ๒ คน พยายามพิสูจน์ว่าบิดาและมารดาของตนเป็นผู้บริสุทธิ์พวกเขาเชื่อว่าบิดาเป็นเหยื่อของความกลัวภัยลัทธิคอมมิวนิสต์ตามลัทธิแมกคาร์ทีและเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ไม่สามารถจัดการกับการจารกรรมได้ การต่อสู้และความเชื่อเรื่องความบริสุทธิ์ของบิดามารดาของพวกเขายังได้รับการกระตุ้นจากคดีอื้อฉาววอเตอริเกต (Watergate Scandal) ที่มีการปกปิดข้อมูลการกระทำผิดของรัฐบาลคนทั้งสองจึงเร่งสืบหาหลักฐานมากขึ้นและร่วมกันเขียนหนังสือจากประสบการณ์ของพวกเขาในชื่อ We Are Your Sons: The Legacy of Ethel and Julius Rosenberg (ค.ศ. ๑๙๗๕) ต่อมารอเบิร์ตยังเขียนหนังสือชื่อ An Execution in the Family: One Son’s Journey (ค.ศ. ๒๐๐๓) นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ ไอวี มีโรพอล (Ivy Meeropol) ลูกสาวของไมเคิลก็กำกับหนังสารคดีเกี่ยวกับคดีของจูเลียสและเอเทล โรเซนเบิร์ก ชื่อ Heir to an Execution ซึ่งได้ออกฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ซันแดนซ์ (Sundance Film Festival) ด้วย

 ใน ค.ศ. ๒๐๐๘ มอร์ตันโซเบลล์ซึ่งอายุ ๙๑ ปี ได้เปิดเผยความจริงต่อสาธารณชนว่าเขาและโรเซนเบิร์กได้จารกรรมข้อมูลลับเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูให้กับสหภาพโซเวียตจริง ส่วนภรรยาของโรเซนเบิร์กไม่มีส่วนร่วมในการจารกรรมแต่อย่างใดและเพียงแค่รับรู้ว่าสามีเป็นสายลับ เท่านั้น คำสารภาพของโซเบลล์ทำให้ลูก ๆ ของโรเซนเบิร์กจำต้องยอมรับว่าบิดาได้กระทำผิดจริง อย่างไรก็ตาม คนทั้งสองก็ยังเชื่อว่าในการพิจารณาคดีของบิดานั้น อัยการและผู้พิพากษาดำเนินการผิดพลาดและการตัดสินลงโทษด้วยการประหารชีวิตนั้นรุนแรงเกินไป ส่วนคดีของมารดานั้นพวกเขาเชื่อว่าอัยการมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะเอาผิดมารดาได้ แต่อัยการ ต้องการใช้มารดากดดันให้บิดารับสารภาพเท่านั้น.



คำตั้ง
Rosenberg, Julius
คำเทียบ
นายจูเลียส โรเซนเบิร์ก
คำสำคัญ
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- คอฟแมน, เออร์วิง
- โครงการแมนฮัตตัน
- เซเมนอฟ, เซมิออน
- เซย์พอล, เออร์วิง
- แซแรนต์, แอลเฟรด
- โซเบลล์, มอร์ตัน
- ดักลาส, วิลเลียม โอ.
- บล็อค, เอมานูเอล เฮิร์ช
- เพิร์ล, วิลเลียม
- ฟุคส์, เคลาส์
- เฟคลีซอฟ, อะเล็กซานเดอร์
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช
- ยาคอฟลอฟ, อะนาโตลี เอ.
- รอเจอรส์, วิลเลียม พี.
- รัฐบัญญัติจารกรรม ค.ศ. ๑๙๑๗
- โรเซนเบิร์ก, จูเลียส
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิแมกคาร์ที
- ลัทธิสตาลิน
- วิกฤตการณ์การปิดกั้นเบอร์ลิน
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1918-1953
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๙๖
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-